ทลายโกดังกระจายอาหารเสริม-เครื่องสำอางเถื่อน ยึดของกลาง 7 หมื่นชิ้น
วันที่ 10 ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ.,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการทลายโกดังจัดเก็บและกระจายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ในพื้นที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดของกลาง 12 รายการ จำนวน 72,797 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,549,000 บาท
สืบเนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบโกดังแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาจัดเก็บไว้ที่โกดังจุดดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบการลักลอบนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผิดกฎหมายมาเก็บไว้ในพื้นที่ดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลแขวงพระนครเหนือ เพื่อขออนุมัติหมายค้น
ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นสถานที่จัดเก็บผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางดังกล่าว พบ น.ส.อินทุอร (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว โดยขณะเข้าทำการตรวจค้นยังพบวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยพบส่วนผสมที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น แป้ง ผงคอลลาเจน สีผสมอาหาร ฯลฯ บรรจุถุงวางอยู่บริเวณพื้นในห้องผสม และพบเครื่องจักรที่ใช้ผลิต เช่น เครื่องผสมวัตถุดิบ, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต ฯลฯ จึงได้ตรวจยึดและอายัดของกลาง จำนวน 12 รายการ จำนวน 72,797 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,549,000 บาท
จากการตรวจสอบ พบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวได้รับอนุญาตผลิตอาหารถูกต้องแต่จะผลิตตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง และส่งสินค้าให้ลูกค้าตามออเดอร์ ในพื้นที่เขตดอนเมืองและกรุงเทพมหานคร ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้เข้ามารับเอง หรือจัดส่งให้ตามที่ลูกค้าแจ้ง โดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี
โดยในการตรวจค้นในครั้งนี้ พบ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Wonder Powder แสดงสรรพคุณในฉลากเชิงรักษาโรคว่า เหมาะสำหรับผู้มีปัญหาเกิดบาดแผลได้ง่าย แผลเรื้อรัง ผิวหนังแพ้ง่าย ผิวหนังอักเสบ ที่มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่วนใหญ่ใช้กับผิวกายภายนอก เพื่อความสะอาด สวยงาม แต่งกลิ่นหอม และสามารถปกป้องหรือส่งเสริมให้ร่างกายดูดีขึ้น การแสดงข้อความในลักษณะดังกล่าวจึงเข้าข่ายแสดงฉลากที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง
อนึ่งจากการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 6 ยี่ห้อ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีขายตามท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดในครั้งนี้มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ฉลากเครื่องสำอางแสดงสรรพคุณในเชิงรักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่แสดงส่วนผสมอาหารเป็นภาษาไทย ไม่แสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร เมื่อนำไปบริโภคอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจยึด จะต้องส่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันอีกครั้ง หากตรวจพบสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อไป
เบื้องต้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ฐาน ขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากมีข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบัน หรือมีการผสมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์ จะเป็นความผิด ฐาน ผลิต/ จำหน่ายอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) โทษตามมาตรา 58 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ